วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ศิลปินที่เป็นแบบอย่างและเป็นแรงบันดาลใจ Tim Burton

 
ผลงานที่สนใจ เด็กชายหอยนางรม The Melancholy Death of Oyster Boy & Other Stories

เกี่ยวกับผู้เขียน Tim Burton เกิดปี 1958 เติบโตในแคลิฟอร์เนีย เรียนวาดรูปที่ California Institute of the Arts เป็นผู้กำกับและผู้สร้างหนังที่มีชื่อเสียงมากมาย เช่น Batman, Beetlejuice, Ed Wood, Edward Scissorhands, Mars Attacks!, PeeWee's Big Advanture, The Nightmare Before Christmas, Sleepy Hollow เบอร์ตันเคยทำงานวาดรูปกับดิสนีย์ และเคยสร้างหนังยาว 27 นาทีเรื่อง Frankenweenie ให้ดิสนีย์ แสดงโดยเด็กที่เล่นเป็นบาสเตียนใน The Neverending Story แต่หนังเรื่องนี้ไม่เคยนำมาเผยแพร่ เพราะดิสนีย์เห็นว่าไม่เหมาะกับเด็ก เบอร์ตันแยกตัวจากดิสนีย์ในเวลาต่อมา หนึ่งในเหตุผลจากคำของเบอร์ตันคือ ดิสนีย์ชอบตัวการ์ตูนที่ตาโตๆ แต่เขาไม่ชอบวาดดวงตาให้การ์ตูนของเขา (ตัวละครของเบอร์ตันจำนวนมากตากลวงโบ๋) นอกจากหนังสือเล่มนี้ เบอร์ตันมีงานเขียน The Nightmare Before Christmas (1993) ซึ่งเป็นบทกวีประกอบรูปเช่นกัน
              บทกวี-มนุษย์-อปกติเล่มนี้คงไม่ทำให้ผู้ที่รู้จักทิม เบอร์ตันประหลาดใจแต่อย่างใด เพราะอารมณ์ขันและจินตนาการของเบอร์ตันมักจะเกี่ยวข้องกับตัวละครที่ไม่ธรรมดา และแม้ความไม่ธรรมดานั้นจะมีรูปลักษณ์น่าเกลียดน่าชังสักปานใด เบอร์ตันก็มักจะใส่หัวใจสวยงามให้ตัวละครนั้นมีเสน่ห์อยู่เสมอ อารมณ์ขันของเขาอาจดูมืดมนเศร้าโศกและโหดร้าย แต่มิใช่ร้ายที่บุคลิกตัวละคร ความร้ายนั้นมาจากสิ่งที่สังคมกระทำต่อคนนอกที่แปลกแยกไปต่างหาก หนังของเบอร์ตันล้วนแล้วแต่กล่าวถึงบุคลิกที่เป็นเอกลักษณ์ และกำเนิดตัวละครที่อยู่ในหัวใจของผู้คนมากมาย เช่นผีขี้เล่นใน Beetlejuice แบ็ทแมนกับบุคลิกที่สับสนขัดแย้งภายใน หนุ่มหัวใจสวยกับความรักอย่าง Edward Scissorhands แจ็ค สเกลลิงตันที่น่ารักกับเหล่าประชาชนพิสดารของเมืองฮัลโลวีนใน The Nightmare Before Christmas บุคลิกของมนุษย์ดาวอังคารใน Mars Attacks! และอัศวินขี่ม้าไร้ศีรษะกับตัวละครอื่นๆ ใน Sleepy Hollow เบอร์ตันสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่าเขาชอบเล่าเรื่องของตัวละครแปลกประหลาด เพราะเขาเข้าใจตัวละครเหล่านี้ เขาเห็นภาพตัวตนของเขาในคนพวกนี้ และชอบจะเล่าเรื่องของคนกลุ่มนี้ เราจึงแน่ใจได้ว่าหากเบอร์ตันจะเขียนกลอนแล้ว บทกวีของเขาจะต้องเล่าเรื่องราวของผู้คนที่ไม่สามัญ ดังที่ปรากฎในหนังสือเล่มนี้
ตัวละครในบทกวีล้วนแต่อปกติ เช่น เด็กแท่งที่ตัวผอมเป็นแท่ง เด็กหุ่นยนต์ที่มีเนื้อตัวเป็นดีบุก เด็กชายที่มีตะปูในดวงตา หรือเด็กหญิงที่มีดวงตามากมาย เบอร์ตันพาผู้อ่านไปรู้จักจินตนาการอัศจรรย์ของเขาต่อชีวิตไม่ธรรมดาเหล่านี้ ถ้อยคำของเบอร์ตันในบางเรื่องทารุณจิตใจเป็นพิเศษ เพราะตัวละครในทุกเรื่องล้วนแต่เป็นเด็ก ชายหนุ่มหัวแตงโมที่ถูกไม้ฟาดหัวจนเละอาจจะร้ายกาจพออยู่แล้ว แต่เด็กชายหัวแตงโมที่ประสบชะตากรรมเดียวกันย่อมโหดเหี้ยมและสร้างความเห็นใจได้มากกว่ากัน เรื่องที่ใจร้ายเยือกเย็นที่สุดในเล่มคือเรื่องของเด็กชายหอยนางรม หนังสือยังมีรูปภาพประกอบแสดงความวิปลาสอันผิดธรรมชาติของตัวละครได้ดีเยี่ยม หลายรูปเป็นภาพการจบชีวิตของตัวละครในเรื่องนั่นเอง
ผู้ที่ชื่นชอบทิม เบอร์ตันไม่ควรพลาดหนังสือเล่มนี้ด้วยประการทั้งปวง จินตนาการของเขามีเสน่ห์เช่นเคย หนังสือเล่มนี้ออกแบบรูปเล่มและภาพประกอบได้สวยงามมาก ใส่ใจในรายละเอียดไปจนถึงตัวหนังสือที่ใช้พิมพ์ที่เหมาะกับเรื่องนี้อย่างยิ่ง แม้แต่บันทึกเรื่องตัวพิมพ์ก็ยังซ่อนรอยเสียดสีร้ายกาจที่ท้ายเล่ม ด้วยการบรรยายว่าผู้ออกแบบตัวพิมพ์นี้ตั้งใจให้เป็นรูปแบบเรียบง่าย ตรงไปตรงมา โดยไม่มีลักษณะพิลึกพิเรนทร์ใดๆ แต่ใครที่เห็นตัวพิมพ์นี้คงเห็นด้วยว่าช่างเหมาะสมกับเรื่องนี้โดยแท้
ความเพลิดเพลินที่ผู้อ่านจะได้รับจากเรื่องนี้จึงขึ้นอยู่กับรสนิยมของแต่ละคน บางคนอาจบอกว่าหนังสือเล่มนี้น่ารัก แต่บางคนอาจกล่าวว่าหนังสือเล่มนี้เหมาะกับมนุษย์อปกติจริงๆ อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้ไม่เหมาะกับเด็ก จะยกเว้นไว้ก็แต่ในกรณีที่จะเป็นของแจกคืนฮัลโลวีนสำหรับเด็กข้างบ้านที่เราไม่ชอบหน้าเท่านั้น
 อ้างอิงจาก : http://www.faylicity.com/book/oyster.html
บทสัมภาษณ์ TIM BURTON อัจฉริยะแห่งอารมณ์ขันหม่นมืด
สำหรับผม โลกนี้เป็นสีเทา
เป็นสถานที่ซึ่งความดีความชั่วผสมผสานกัน
และมันก็เป็นสีเทาเข้มขึ้นเรื่อยๆ
ผมชอบเทพนิยาย และความนึกคิดเกี่ยวกับเทพนิยายแต่ละเรื่องในตัวเราแต่ละคนจะแตกต่างกันไป
และผมอยากจะทำเทพนิยายให้มันบริสุทธ์ที่สุด

กระบวนการออกแบบภาพประกอบหนังสือวรรณกรรม

        ทฤษฎี-จิตรกรภาพประกอบ (ภาษาอังกฤษ: Illustrator) คือจิตรกรกราฟิกที่มีความเชี่ยวชาญในการเพิ่มคุณค่าของงานเขียนโดยการสร้างภาพที่มีความสำพันธ์กับเนื้อหาภายในงาน จิตรกรอาจจะพยายามเพิ่มความกระจ่างแจ้งของเนื้อหาที่ซับซ้อนหรือสิ่งที่ยากต่อการอธิบายด้วยตัวหนังสือ หรืออาจจะเขียนเพื่อความบันเทิงเช่นการเขียนบัตรอวยพรหรือปกหนังสือ หรือภาพเขียนภายในหนังสือหรือวรสาร หรือโฆษณา หรือโปสเตอร์
จิตรกรภาพประกอบร่วมสมัยมาจะเขียนงานสำหรับหนังสือสำหรับเด็ก, โฆษณา, หนังสือพิมพ์ จิตรกรในกลุ่มนี้มักจะใช้หมึกและปากกาหรือแอร์บรัชในการเขียน แต่คอมพิวเตอร์ทำให้วิธีสร้างงานเปลี่ยนไป แต่วิธีเขียนแบบเก่าก็ยังใช้กันอยู่ในการเขียนใช้ ปากกาและหมึก, สีน้ำ, สีน้ำมัน, พาเตล, งานแกะไม้, งานแกะยาง (Linocut)
จิตรกรภาพประกอบมักจะทำงานเป็นอิสระโดยได้รับค่าจ้างจากสำนักพิมพ์หรือบริษัทโฆษณา งานภาพประกอบทางวิทยาศาสตร์และทางเทคนิคเรียกกันว่า “information graphics” เช่นงานเขียนภาพประกอบหนังสือกายภาควิทยาซึ่งผู้เขียนต้องได้รับการฝึกพิเศษ
อ้างอิงจาก : http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%9A